เช็กลิสต์สิ่งที่ห้ามลืมในขั้นตอนการทำหนังสือก่อนนำส่งพิมพ์

 

การผลิตหนังสือเล่มเล็กพื่อประชาสัมพันธ์

 

ในการจะประชาสัมพันธ์ข้อมูลบริษัทหรือการขายผลิตภัณฑ์ การใช้ 'หนังสือเล่มเล็ก' ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมการตลาดได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถทำให้ผู้บริโภคเห็นภาพและเข้าใจถึงข้อมูลของผลิตภัณฑ์ได้อย่างชัดเจน ดังที่แบรนด์ต่าง ๆ มีการออกหนังสือสำหรับแนะนำสินค้าที่มีจำนวนมาก หรือแม้แต่พึ่งพาหนังสือเล่มเล็กเพื่ออธิบายวิธีใช้งานผลิตภัณฑ์ได้อย่างสะดวกแก่คนทุกวัย โดยหนังสือเล่มเล็กมักถูกจัดทำด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น

 

แคตตาล็อกสินค้า 

การทำการตลาดโดยใช้หนังสือแคตตาล็อก ถือได้ว่าเป็นวิธีคลาสสิกซึ่งเป็นที่นิยมมาอย่างยาวนาน ซึ่งวัตถุประสงค์หลักในการจัดทำก็เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบรายละเอียดของสินค้าและบริการผ่านรูปเล่มที่ออกแบบมาอย่างสวยงาม อีกทั้งการทําแคตตาล็อกที่ผ่านการคิดออกแบบมาอย่างดีและมีคุณภาพ ยังช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่สินค้า ทำให้มีความโดดเด่นและยังส่งผลต่อการจัดจําหน่ายอีกด้วย

คู่มือการใช้งานอุปกรณ์

เรามักเห็นหนังสือคู่มือการใช้งานตามเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป หรือสิ่งประดิษฐ์ที่มีการใช้งานที่ซับซ้อน เพื่อเป็นการขยายความให้ผู้ซื้อสินค้าสามารถนำไปใช้งานได้อย่างถูกต้อง จริงอยู่ว่าหนังสือคู่มืออาจไม่ต้องใช้ความสวยงามมากนัก แต่สิ่งที่จำเป็นคือการจัดหน้าให้อ่านง่าย เพราะต้องทำเผื่อคนทุกวัยที่อาจมาใช้งาน

ประวัติองค์กร

หลายครั้งที่ผลิตภัณฑ์สินค้าธรรมดากลับโดดเด่นขึ้นมาได้เมื่อมีประวัติหรือสตอรี่ให้ติดตาม เพราะเรื่องราวขององค์กรหรือบริษัทก็สามารถนำไปเกี่ยวโยงถึงความเป็นมาในการสรรค์สร้างสินค้า จนสามารถเพิ่มมูลค่าขึ้นมาได้

 

เรียกได้ว่าไม่ว่าจะเป็นการทำหนังสือด้วยวัตถุประสงค์แบบไหน ก็ล้วนแต่มีความสำคัญและน่านำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ทั้งสิ้น แต่ด้วยยุคสมัยปัจจุบันที่คนไม่คุ้นเคยกับการทำหนังสือเล่ม อาจต้องสะดุดเมื่อเจอกับการจัดหน้าในขั้นตอนการทำหนังสือ จนทำให้เกิดความผิดพลาดเมื่อต้องส่งไฟล์ให้โรงพิมพ์ เราจึงได้รวบรวมเรื่องที่ต้องเช็กให้ดีในขั้นตอนการผลิตหนังสือเล่มเล็กมาไว้ให้ที่นี่แล้ว

 

เช็กให้ดี การออกแบบในขั้นตอนการผลิตหนังสือ

1. ขนาดงาน

เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เนื่องจากหากมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจนทำให้กำหนดขนาดงานผิด และต้องนำไปแก้ไข ก็อาจเป็นเรื่องใหญ่ที่เสียเวลามาก จึงควรปรึกษาและกำหนดขนาดงานให้เข้าใจตรงกันกับโรงพิมพ์หนังสือตามใบเสนอราคาตั้งแต่แรก ยกตัวอย่างเช่น หนังสือขนาด A5 ซึ่งขนาด A5 ตามมาตรฐาน ISO จะเป็น 148 x 210 มม. แต่ขนาดสำเร็จตามมาตรฐานโรงพิมพ์ในเมืองไทยจะเป็น 145 x 210 มม. จึงต้องมีการพูดคุยและตกลงกันในเรื่องนี้ตั้งแต่แรก

2. ตั้งค่าตัดตก

การตัดตก เป็นการเผื่อพื้นที่รอบขอบของงานออกแบบสิ่งพิมพ์ ซึ่งงานทุกประเภทที่ทำส่งโรงพิมพ์จะต้องเผื่อขนาดตัดตกไว้ด้วยทุกครั้ง เนื่องจากในกระบวนการพิมพ์งานส่วนใหญ่จะพิมพ์ลงบนกระดาษขนาดใหญ่ จะไม่ได้เป็นขนาดสำเร็จรูปในทันที เพราะฉะนั้นจะต้องมีการตัดขอบกระดาษส่วนเกินทิ้งไป ซึ่งหากไม่มีการตั้งตัดตกไว้ตั้งแต่แรกก็อาจทำให้ข้อมูลหรือส่วนสำคัญในเล่มโดนเฉือนตัดออกไปด้วย จึงต้องมีการกำหนดขอบเขตโดยรอบชิ้นงาน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับขนาดหน้ายกที่โรงพิมพ์ใช้และชนิดของงานด้วย

3. ใช้ระบบสี CMYK

ตามปกติแล้วงานที่จะส่งพิมพ์ในระบบออฟเซท ต้องใช้เป็นระบบสี CMYK เท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปภาพตามโลกออนไลน์หรือจากภาพถ่ายมักถูกตั้งค่าเป็นระบบสี RGB เมื่อนำปรับเป็นระบบสีตามขั้นตอนการผลิตหนังสือ จึงอาจเกิดกรณีสีที่เพี้ยนไปจากสีจริงได้บ้างเล็กน้อย จึงต้องตั้งค่าระบบสีให้ถูกต้องก่อนเริ่มงานทุกครั้ง

4. ฟอนต์

หากมีการใช้ฟอนต์ที่ไม่ใช่มาตรฐาน ก็ต้องมีการแนบฟอนต์ส่งมากับไฟล์งานด้วยเสมอ เพราะหากโรงพิมพ์ไม่มีฟอนต์ชนิดเดียวกันก็อาจจะทำให้เกิด Error และไม่สามารถแก้ไขงานได้ หรืออาจใช้วิธีเปลี่ยน Text ในโปรแกรม ให้เป็นภาพ เช่น การใช้คำสั่ง Create Outline ใน Adobe Illustrator หรือการ Rasterize Type ใน Adobe Photoshop

5. ระยะขอบกระดาษ

รูปแบบในการเข้าเล่มสามารถส่งผลกับการออกแบบงานด้วยเช่นกัน เพราะหากหนังสือที่มีความหนาต้องเข้าเล่มแบบไสกาวอย่างเดียว ก็จะทำให้พื้นที่ด้านในบริเวณสันนั้นกางออกไม่สุด จะอ่านได้ลำบากกว่าบริเวณอื่น ดังนั้นจะต้องเว้นระยะจากสันออกมามากกว่าปกติอยู่พอสมควร โดยระยะที่เหมาะสมสำหรับงานหนังสือโดยประมาณจะอยู่ที่ 15 มม.โดยรอบ และ 20-25 มม. อย่างไรก็ตามมีวิธีเข้าเล่มแบบเย็บกี่ไสกาวที่ทำให้สามารถเปิดหน้ากระดาษออกสุดได้เช่นกัน แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

6. วิธีการจัดเรียงหน้าหนังสือ

หนึ่งในขั้นตอนการผลิตหนังสือที่ควรระวังคือการเช็กให้ดีว่าหน้า 1 เราและโรงพิมพ์ตรงกันหรือไม่ เพราะมีทั้งกรณีนับหน้าปกเป็นหน้า 1 และปกหน้าในเป็นหน้า 2 ซึ่งกรณีนี้มักเป็นการผลิตหนังสือที่หน้าปกและเนื้อในเป็นกระดาษแบบเดียวกัน พิมพ์ด้วยเทคนิคเดียวกันทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่นับหน้าแรกเนื้อในของหนังสือที่ไม่รวมปกเป็นหน้า 1 เช่นกัน ซึ่งมักเกิดกับการผลิตหนังสือที่แยกการพิมพ์ระหว่างหน้าปกและเนื้อใน ดังนั้น การทำความเข้าใจในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากผิดพลาดไป จะส่งผลตั้งแต่การออกแบบที่ทำให้เลขหน้าผิดเพี้ยนไม่เป็นดั่งที่ตั้งใจไว้ จนต้องเริ่มกระบวนการออกแบบใหม่ทั้งหมด

7. ความละเอียดของภาพ

ในการออกแบบสิ่งพิมพ์ ก่อนพิมพ์งาน ไฟล์ภาพจะมีหน่วยวัดเป็น Dots Per Inch (DPI) หรือ Pixels Per Inch (PPI) ซึ่งยิ่ง DPI ยิ่งมาก ความละเอียดและความคมชัดของภาพยิ่งสูงขึ้น ความละเอียดของภาพสำหรับงานออกแบบสิ่งพิมพ์ในระบบออฟเซทจำเป็นต้องใช้ความละเอียดไม่น้อยกว่า 300 DPI ภาพพิมพ์ที่ได้จึงจะมีความคมชัดและให้รายละเอียดที่ดี 


เลือกงานพิมพ์ที่เหมาะสมกับการใช้งาน บอกเล่าเรื่องราวผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ได้อย่างง่ายดาย กับโรงพิมพ์ BookandboX โรงพิมพ์หนังสือคุณภาพดี พร้อมทีมงานที่คอยให้คำปรึกษาและดูแล เพื่อผลิตหนังสือด้วยงานพิมพ์ที่เหมาะสมและคุ้มค่ากับการใช้งานที่สุด ทั้งยังสามารถพิมพ์งานด่วนที่สุดได้ใน 3 วัน! รับคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการทำหนังสือได้ทาง LINE Official: @bookandbox (มี @ ด้วย) และโทร. 02-494-9158 เปิดให้บริการวันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา 8.30 น. - 17.30 น.